วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

SU Model

SU Model
SU Model



          SU Model คือ รูปแบบจำลองโลกแห่งการศึกษา โดยประกอบด้วยวงกลม ซึ่งเปรียบเสมือนโลกที่มีองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ 1.พื้นฐานทางปรัชญา 2.พื้นฐานทางจิตวิทยาและ 3.พื้นฐานทางสังคม โดยมีสามเหลี่ยมแห่งการศึกษาที่มีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่
          ด้านความรู้ กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา 2 ปรัชญา คือ ปรัชญาสารัตถนิยม (Essentialism) ซึ่งมีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และ ปรัชญานิรันดรนิยม (Perenialism) ที่มีแนวคิดในการจัดการเรียนการสอนด้วยเหตุผล เรียนรู้ในสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระที่มั่นคง
          ด้านผู้เรียน กำกับด้วยปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ซึ่งมีแนวคิดที่ให้บุคคลมีเสรีภาพในการเลือกด้วยตนเอง มีแนวทางการจัดการศึกษาโดยให้ผู้เรียนได้มีโอกาสเลือกประสบการณ์ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง
          ด้านสังคม จะกำกับด้วยปรัชญาการศึกษาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) โดยมีแนวคิดในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียนควรเป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เนื่องจากสังคมมีปัญหา
          ในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาต้องตอบสนองด้านผู้เรียน ด้านสังคมและด้านความรู้ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานทางการพัฒนาที่สำคัญ คือ พื้นฐานทางสังคม พื้นฐานทางจิตวิทยาและพื้นฐานทางปรัชญาและภายในสามเหลี่ยมการศึกษาจะประกอบด้วยสามเหลี่ยมเล็กๆ 4 ภาพ ซึ่งเป็นการจำลองขั้นตอนในการจัดทำหลักสูตรของ Tyler โดยประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้
          ขั้นตอนที่ 1 คือ การวางแผน (Planning) ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยความรู้ (Knowledge) และจะสอดคล้องกับคำถามที่หนึ่งของไทเลอร์ คือ มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา เพราะว่าหลักสูตรต้องวางแผนให้มีเนื้อหาครบคลุมในสิ่งที่ผู้เรียนต้องรู้และต้องเรียน
          ขั้นตอนที่ 2 คือ การออกแบบ (Design) ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยผู้เรียน (Learner) และจะสอดคล้องกับคำถามที่สองของไทเลอร์ คือ มีประสบการณ์การศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัด เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายในการศึกษา เพราะว่าหลักสูตรต้องออกแบบมา เพื่อให้จัดกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ก่อให้เกิดความรู้แก่นักเรียน
          ขั้นตอนที่ 3 คือ การจัดการหลักสูตร (Organize) ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยผู้เรียน (Learner)ความรู้ (Knowledge) และสังคม (Society) และจะสอดคล้องกับคำถามที่สามของไทเลอร์ คือจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เพราะว่าการจัดการหลักสูตรให้ได้ประสิทธิภาพ คือ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิ เพื่อให้นักเรียนเกิดความรู้และบรรลุวัตถุประสงค์พร้อมกับสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการอยู่ในสังคม
          ขั้นตอนที่ 4 คือ การประเมิน (Evaluate) ซึ่งจะเห็นว่ากำกับด้วยสังคม (Society) และจะสอดคล้องกับคำถามที่สี่ของไทเลอร์ คือ ประเมินประสิทธิ์ผลของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร เพราะว่าการประเมินผลการเรียน ความรู้และการจัดการเรียนการสอนจะทำให้นักเรียนได้ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ในสังคม
พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา
ด้านความรู้ (K) กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา 2 ปรัชญา คือ
- ปรัชญาสารัตถนิยมหรือสาระนิยม (Essentialism) การจัดการศึกษาตามแนวคิดมีลักษณะเป็นการถ่ายทอด และอนุรักษ์วัฒนธรรมของสังคมเพราะเห็นว่า สิ่งที่นำมาสอนนั้น ดีงาม ถูกต้อง และกลั่นกรองมาดีแล้ว เนื้อหาวิชาที่นำมาสอนจะเป็นการเตรียมผู้เรียนให้มีชีวิตที่ดี
- ปรัชญานิรันตรนิยม (Parennialism) ปรัชญานี้มีความเชื่อว่า สิ่งที่มีความคงทนถาวร ย่อมเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นจริงมากกว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ การจัดการศึกษาจึงควรให้เรียนในสิ่งที่ดีงาม มั่นคง มีเสถียรภาพ เนื้อหาวิชาที่เรียนจะเป็นวิชาที่พัฒนาเชาวน์ปัญญาและจิตใจ เช่น วิทยาศาสตร์ ตรรกศาสตร์ ภาษาศาสตร์ วรรณคดี  
ด้านผู้เรียน (L) กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา ๑ ปรัชญา คือ
ปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ให้ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ การตัดสินใจ สอนให้เด็กเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพในการเรียน และเลือกเรียนมีความรับผิดชอบในตนเอง ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้ชี้แนะแนวทาง
ด้านสังคม (S) กำกับด้วยปรัชญาทางการศึกษา ๑ ปรัชญา คือ
ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เน้นการจัดการศึกษาเพื่อสร้างสังคมให้ดี รู้จักการอยู่ร่วมกันในสังคม ช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้นผู้เรียนต้องหาประสบการณ์ด้วยตนเองให้มากจะเห็นว่าพื้นฐานทางด้านปรัชญามีความสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตรมาก ดังนั้นการจะพัฒนาหลักสูตรไปในทิศทางใดย่อมขึ้นอยู่กับปรัชญาที่ยึดถือ เพราะแนวคิดทางปรัชญาเป็นเครื่องช่วยกำหนดจุดหมาย หลักการ โครงสร้าง และแนวปฏิบัติของหลักสูตรให้ชัดเจนขึ้น
สรุปปรัชญาการศึกษา
ปรัชญาสารนิยม หรือสารัตถนิยม (Essentialism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดความรู้ความจริงทางธรรมชาติ
ปรัชญานิรันตรนิยม (Perenialism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่าโลกนี้มีบางสิ่งที่มีคุณค่าถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เราควรอนุรักษ์และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังต่อไป
- ปรัชญาอัตถิภาวนิยม  (Existentialism) เป็นปรัชญาที่เชื่อในความมีอยู่เป็นอยู่ของมนุษย์ มนุษย์แต่ละคนจะต้องกำหนดหรือแสวงหาสาระสำคัญ (essence) ด้วยตนเอง
ปรัชญาปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) เป็นปรัชญาที่เชื่อว่า การปฏิรูปสังคม เป็นหน้าที่ของสมาชิกของคนในสังคมทุกคนและการศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้



นางสาววีณา มั่นน้อย รหัสนักศึกษา 5641060148
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป กลุ่ม 12 รุ่น 56 คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น